อุดฟัน

อุดฟัน

 

การอุดฟันเป็นอะไรที่ใกล้ตัวพวกเรามาก เพราะเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างก็เคยผ่านการอุดฟันมาแล้วเกือบทั้งสิ้น สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะการแปรงฟันที่ไม่ถูกวิธีจึงทำให้มีเศษอาหาร คราบแบคทีเรียสะสมอยู่ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของฟันผุ จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องพาตัวเองไปพบทันตแพทย์ทุก ๆ 6 เดือน เพื่อที่จะได้แก้ไขหรือรักษาฟันทันทีกรณีพบสิ่งผิดปกติ ซึ่งจุดประสงค์ก็คือให้ฟันอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ ไม่เจ็บปวด ซึ่งมีผลต่อสุขภาพกายและจิต

 

ว่ากันตามหลักแล้วการอุดฟันก็คือการทำให้ฟันอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ โดยมีรูปร่างเหมือนหรือใกล้เคียงกับฟันเดิม การอุดฟันอาจเป็นไปเพื่อแก้ไขฟันเดิมให้ดีขึ้นหรืออุดฟันเพื่อให้สวยงามขึ้น และจะต้องใช้บดเคี้ยวอาหารได้ตามปกติ

 

ทำความเข้าใจในเรื่องของการอุดฟัน

การอุดฟันไม่ได้ทำเฉพาะฟันที่มีรอยผุหรือเป็นรูเท่านั้น  ฟันที่แตก บิ่น ฟันที่มีรอยสึกอันเนื่องมาจากการแปรงฟัน อาหารที่รับประทาน ถ้ามีอาการเสียวฟันในขณะที่รับประทานอาหาร ของหวาน ดื่มน้ำเย็น ก็จะต้องทำการอุดก่อนการอุดฟัน โดยคุณหมอจะทำการเตรียมฟัน ณ บริเวณที่จะอุดก่อน เพื่อรองรับกับวัสดุที่จะใช้อุด ซึ่งถ้าเป็นฟันที่ผุก็จะต้องกรอรอยผุออกให้หมด คงเหลือแต่เนื้อฟันที่ดีเอาไว้ โดยฟันที่แตก บิ่น หรือสึก อาจจะต้องกรอหรือแต่งฟันบ้าง เพื่อให้มีขนาดและรูปร่างที่ต้องการ เพื่อที่วัสดุอุดจะได้ยึดอยู่กับเนื้อฟัน และมีความแข็งแรงที่จะบดเคี้ยวอาหารได้

 

วัสดุที่ใช้ในการอุดฟันน่ารู้

บางคนที่เคยอุดฟันมาแล้วอาจมองเห็นวัสดุที่ใช้ในการอุดฟันในปากของตัวเองเป็นสีเงิน ๆ บางคนก็มีสีใกล้เคียงกับสีฟัน ซึ่งวัสดุเหล่านี้ก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน เรามาลองทำความเข้าในในเรื่องของวัสดุเหล่านี้กัน

1.วัสดุอุดฟันที่เป็นโลหะผสม

อาจเรียกวัสดุอุดฟันนี้ว่า อมัลกัม ตอนอุดใหม่ ๆ จะเป็นสีเทาแต่พอขัดให้ขึ้นเงาแล้วจะเป็นสีเงิน มักใช้ในการอุดฟันกราม ลักษณะของอมัลกัมจะมีส่วนที่เป็นของแข็ง หรือเป็นผง หรืออัดเป็นเม็ด มีส่วนผสมของเงิน ดีบุกอยู่มากและทองแดงกับสังกะสีเล็กน้อย ส่วนที่เป็นของเหลวคือปรอทบริสุทธิ์ โดยจะนำส่วนผสมทั้งสองนี้มาปั่นจนสามารถปั้นได้ มีลักษณะนุ่มและไหลแผ่ คุณหมอจะนำไปอุดในโพรงฟันที่เตรียมไว้และตกแต่งให้เหมาะสม เมื่อทิ้งไว้วัสดุนี้จะค่อย ๆ แข็งตัวเต็มที่ภายใน 24 ชั่วโมง

 

2.วัสดุอุดฟันคอมโพสิต

วัสดุอุดฟันชนิดนี้มีคุณสมบัติโปร่งแสง ต้องมีการผสมสีเข้าไปเพื่อให้สีฟันใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติทำการยึดกับโพรงฟันได้แน่น ทำให้ไม่ต้องกรอฟันมาก เหมาะสำหรับอุดฟันหน้าเพื่อให้สวยงาม แต่ปัจจุบันก็มีการพัฒนาเพื่อให้แข็งแรงมากขึ้นทำให้คอมโพสิตสามารถใช้อุดฟันกรามได้ด้วย

 

เป็นความจริงที่ว่าการอุดฟันจะมีรอยต่อระหว่างวัสดุกับผิวฟัน หากรอยอุดนี้ไม่แนบสนิท ไม่เรียบ และมีร่องรองแตกระหว่างรอยต่อ หรือมีขอบขึ้นมาล่ะก็ จะเป็นแหล่งกักเศษอาหาร จะแปรงก็ไม่ค่อยออก จึงทำให้ฟันผุได้อีก หากเป็นเช่นนี้เมื่ออุดด้วยอมัลกัม ควรกลับไปหาทันแพทย์เพื่อให้ขัดแต่งหลังจาก 24 ชั่วโมงไปแล้ว แต่ถ้าเป็นวัสดุคอมโพสิตทันตแพทย์จะทำการขัดให้ทันทีหลังจากอุดเสร็จแล้ว การขัดนี้จะช่วยให้ขอบวัสดุอุดฟันแนบกับตัวฟัน ผิวจะเรียบ ไม่สะสมคราบแบคทีเรีย เวลาแปรงฟันเศษอาหารจะออกได้ง่าย

 

ความคิดของคนส่วนใหญ่เกี่ยวกับการอุดฟัน

หลายคนมักคิดว่าหลังจากอุดฟันไปแล้วฟันจะไม่ผุอีก ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ถึงแม้ว่าคุณหมอจะกรอส่วนที่ผุออกไปจนหมดก่อนที่จะอุดฟัน ทำให้บริเวณนี้จะไม่ผุอีก แต่อย่าลืมว่ายังมีฟันส่วนที่ยังไม่ได้อุดเหลืออยู่ โอกาสที่ฟันจะผุจึงมีแน่นอน ต้องเข้าใจว่าฟันที่อุดจะมีรอยต่อระหว่างผิวฟันกับวัสดุอุด จึงต้องแปรงฟันให้สะอาดและใช้ไหมขัดฟันบริเวณซอกฟันด้วย และถ้าพบว่ารอยอุดไม่เรียบ ควรให้ทันตแพทย์ขัดให้เรียบเพื่อจะได้ทำความสะอาดได้ง่าย นอกจากนี้ต้องหมั่นตรวจดูรอยอุดอยู่เสมอว่ายังมีสภาพดีหรือไม่ หากมีรอยแตกบิ่นก็ควรรีบไปอุดใหม่ทันที ไม่ควรรอจนกระทั่งมีอาการปวด เพราะอาจมีการผุจนถึงโพรงประสาทฟันก็เป็นได้

 

สำหรับคนที่อุดฟันด้วยคอมโพสิต ก็ต้องคอยสังเกตดูว่ามีวัสดุหรือรอบขอบเปลี่ยนสีหรือไม่ นอกจากนี้ควรหมั่นไปให้ทันตแพทย์ตรวจดูว่ามีรอยรั่วหรือเปล่า โดยควรไปพบทันตแพทย์ทุก ๆ 6 เดือน จะเป็นการดีสำหรับตัวคุณเป็นอย่างมาก

 

เมื่อคนเรามีฟันผุแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อสุขภาพของช่องปากและสุขภาพจิตของตนเอง การพาตัวเองไปอุดฟันนับเป็นการดูแลตัวเองที่ดีอีกวิธีหนึ่ง หลังจากอุดฟันมาแล้วควรสังเกตความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้น เมื่อพบแล้วควรกลับไปพบทันตแพทย์ เพื่อให้การอุดฟันเป็นไปอย่างสมบูรณ์เหมาะสมกับการใช้งานต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *