สะพานฟัน

สะพานฟัน

เมื่อพูดถึงสะพานฟันหลาย ๆ คนก็อาจจะงงบ้างเล็กน้อยว่าสะพานฟันมันคืออะไร ซึ่งสะพานฟันก็คือฟันปลอมชนิดติดแน่นนั่นเอง คำว่าติดแน่นก็หมายความว่าเมื่อถูกใส่เข้าไปแล้วไม่ต้องถอดออกมาอีก เป็นแบบติดถาวรเหมือนฟันแท้ของเราเลย ลักษณะของสะพานฟันก็เหมือนกับฟันธรรมชาติของเรา ไม่มีวัสดุอื่น เช่นตะขอ หรือแผ่นเหงือกปลอมใด ๆ ทั้งสิ้น

ในการทำสะพานฟันนั้น คุณหมอจะทำการกรอฟันซี่ข้าง ๆ ของฟันที่ถูกถอนไปแล้วนั้น เพื่อใช้เป็นหลักสำหรับยึดสะพานฟัน จากนั้นจะทำการพิมพ์ปากเพื่อส่งไปทำสะพานฟัน เมื่อถึงคราวนัดครั้งต่อไป คุณหมอก็จะเช็คว่าสะพานฟันที่ทำมานั้นเข้าพอดีกับในปากหรือไม่ ถ้าพอดีหรือลงตัวแล้วคุณหมอจะทำการยึดสะพานฟันกับฟันของคุณ เป็นอันเสร็จสิ้นและคุณจะมีฟันใหม่ในการใช้งานไปอีกนานหากดูแลดี ๆ

 

ข้อเสียของสะพานฟัน

อย่างไรก็ตามสะพานฟันก็มีข้อเสียเหมือนกันตรงที่ว่ากระบวนการทำที่ต้องกรอฟันที่ยังดีอยู่ที่อยู่ข้าง ๆ ช่องว่าง เพื่อใช้เป็นหลักยึดของฟัน ทำให้คุณรู้สึกเสียดายเนื้อฟันขึ้นมาได้  วิธีการทำรากฟันเทียมอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่ถอนฟันไปแล้วแต่อยากใส่ฟันปลอมแบบติดแน่นโดยไม่อยากกรอฟันข้างเคียงออก

 

สะพานฟันจะแข็งแรงเมื่อดูแลอย่างถูกวิธี

การดูแลทำความสะอาดสะพานฟันอย่างถูกวิธีจะช่วยยืดอายุการใช้งานของสะพานฟันให้ยาวนานมากขึ้น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าสะพานฟันนั้นครอบอยู่บนฟันธรรมชาติเดิมของเรา ถ้าเราทำความสะอาดไม่ดีหรือไม่ถูกวิธี จะทำให้เกิดการผุตรงรอยต่อของสะพานฟันกับฟันธรรมชาติเดิมของเรา สิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือหลังจากทำสะพานฟันแล้วควรดูแลทำความสะอาดฟันและฟันอย่างถูกวิธีในแต่ละวัน จะทำให้เรามีสะพานฟันที่แข็งแรงใช้ไปได้อีกนานเลยทีเดียว

 

การดูแลสะพานฟันให้มั่นคงแข็งแรง

การดูแลรักษาสะพานฟันไม่ได้มีอะไรยุ่งยาก ก็เหมือนกับการแปรงฟันตามปกติ เพียงแต่เพิ่มการใช้ไหมขัดฟันบริเวณส่วนกลางของสะพานฟันเป็นพิเศษ โดยใช้ตัวช่วยในการร้อยไหมขัดฟันที่รู้จักกันดีคือ Floss treader หรือ Super floss ก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้คุณต้องพาตัวเองมาพบทันตแพทย์ทุก ๆ 6 เดือน เพื่อที่คุณหมอจะได้ตรวจฟันดูว่ามีการผุหรือรั่วที่บริเวณสะพานฟันหรือไม่ หรือในเรื่องของการทำความสะอาดหากคุณยังทำได้ไม่ดีคุณหมอจะได้แนะนำเพิ่มเติม

 

ประโยชน์ดี ๆ ของการมีสะพานฟัน

สะพานฟันมีประโยชน์หลายประการทั้งในเรื่องของความสวยงามและการบดเคี้ยวอาหาร โดยช่วยในการรักษารูปหน้าให้เป็นปกติ พร้อมมอบรอยยิ้มสวยให้ดังเดิม นอกจากนี้ยังช่วยให้สามารถบดเคี้ยวและออกเสียงได้ดีขึ้น สะพานฟันช่วยแบ่งกระจายแรงบดเคี้ยวให้เป็นปกติ สามารถหลีกเลี่ยงการรับแรงบดเคี้ยวที่มากเกินไปของฟันซี่ข้างเคียงได้ อีกทั้งช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาการล้มของฟันซี่ข้างเคียงมายังช่องว่างและรักษาตำแหน่งในการทำงานของฟันให้เป็นไปธรรมชาติรวมถึงการช่วยรักษาการสบฟันให้เป็นไปตามปกติอีกด้วย

 

ขั้นตอนการทำสะพานฟัน

หลายคนอยากรู้ว่าขั้นตอนของการทำสะพานฟันนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งสามารถอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ โดยเริ่มแรกคุณหมอจะทำการตรวจอย่างละเอียดและมีการเตรียมฟันให้พร้อม จากนั้นจะทำการฉีดยาชาบริเวณฟันซี่ที่จะถูกกรอ เพื่อใช้เป็นฐานของสะพานฟัน ต่อมาคุณหมอก็จะทำการกรอฟันให้และทำการจดบันทึก สี ขนาด รวมถึงรูปร่างของฟัน จากนั้นจะทำการพิมพ์ปากเพื่อทำแบบจำลอง หลังจากนั้นก็จะส่งแบบจำลองและรายละเอียดทั้งหมดไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อทำสะพานฟันต่อไป ในช่วงนี้คุณหมอจะติดสะพานฟันแบบชั่วคราวให้ เพื่อไว้ใช้งานระหว่างรอการดำเนินการของสะพานฟันแบบถาวร

 

ในส่วนของขั้นตอนการติดสะพานฟัน ทันตแพทย์จะรื้อสะพานฟันแบบชั่วคราวออกให้ แล้วทำการติดยึดสะพานฟันแบบถาวรแทน โดยมีการตรวจเช็คและปรับแต่งสะพานฟันให้มีความเหมาะสม หลังติดสะพานฟันเรียบร้อยแล้วคุณหมอจะให้คำแนะนำในเรื่องของการดูแลทำความสะอาดสะพานฟันเพื่อยืดอายุการใช้งาน

 

คำแนะนำเพื่อยืดอายุสะพานฟัน

สะพานฟันจะมีอายุการใช้งานที่ยาวนานได้นั้น ฟันธรรมชาติที่ใช้เป็นฐานจะต้องมีสุขภาพแข็งแรง และฟันที่แข็งแรงก็มาจากการดูแลทำความสะอาดเป็นอย่างดีและถูกวิธี คำแนะนำในการดูแลตนเองหลังเข้ารับการทำสะพานฟันจะมีประโยชน์มาก ๆ โดยในช่วง 24 ชั่วโมงนี้มีสิ่งที่พึงระวังคือเรื่องของอาหารแข็งเพราะจะส่งผลต่อสะพานฟันควรเริ่มจากการรับประทานอาหารอ่อนในระยะแรกนี้ อาหารร้อนและเย็นหรือที่มีความเป็นกรดสูงย่อมมีผลต่อสะพานฟันควรหลีกเลี่ยงไปก่อน ถ้าหากมีอาการเสียวฟันการกินยาแก้ปวดจะช่วยบรรเทาอาการได้ ในการทำความสะอาดฟันควรทำอย่างถูกวิธี เหล่านี้คือสิ่งที่คุณปฏิบัติตามจะช่วยยืดอายุสะพานฟันได้เป็นอย่างดี

 

เมื่อคุณต้องเข้ารับการทำสะพานฟัน สิ่งที่ตามมาคือการดูแลรักษาสะพานฟัน ด้วยวิธีดังกล่าวข้างต้น จะช่วยให้คุณมีสะพานฟันที่แข็งแรงใช้งานนานนับปีเลยทีเดียว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *