รากฟันเทียม
หลายคนอาจจะยังไม่ค่อยรู้จักรากฟันเทียมเท่าไรนัก เนื่องจากหากไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับฟันจริง ๆ ในชีวิตก็อาจจะไม่ต้องใส่รากฟันเทียมเลยก็ได้ แต่สำหรับคนที่มีแนวโน้มต้องทำรากฟันเทียมข้อมูลในวันนี้ก็จะมีประโยชน์มาก ๆ ซึ่งรากฟันเทียมเป็นเครื่องมือที่ทันตแพทย์นำมาใช้เพื่อทดแทนฟันซี่ที่สูญเสียไป ซึ่งอาจจะเริ่มตั้งแต่ 1 ซี่หรือหลาย ๆ ซี่ก็ได้ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นรากฟันเทียมก็คือ รากเทียมที่ใส่เข้าไปในขากรรไกร โดยทันตแพทย์จะทำการยึดติดที่ครอบฟันหรือสะพานฟันให้เข้ากับรากฟันเทียม เพื่อทดแทนฟันซี่ที่สูญเสียไป
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับรากฟันเทียม
ส่วนที่ใช้ทดแทนรากฟันประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ รากฟันเทียมที่มีลักษณะคล้ายสกรู เดือยรองรับครอบฟันที่อยู่ติดกับเหงือก และครอบฟันที่อยู่ด้านบนของเหงือก ตัวของรากฟันเทียมจะคล้าย ๆ กับสกรูที่ทำมาจากโลหะไทเทเนียม หนาประมาณ 3-5 มม. ยาว 8-16 มม. จะใช้ระยะเวลาประมาณ 3-6 เดือน เพื่อให้รากฟันเทียมติดสนิทแนบแน่นกับกระดูก
ในการทำรากฟันเทียมคุณหมอจะนัดคนไข้เพื่อทำการรักษาประมาณ 4-8 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนของการทำรากฟันเทียมด้วย ในการนี้จะเป็นการรวมตรวจรักษาทางทันตกรรมในครั้งแรกด้วย
เหตุผลที่ต้องทำรากฟันเทียม
ความสำคัญของรากฟันเทียมนั้นเป็นไปเพื่อทดแทนฟันหายซี่ที่หายไปอันเนื่องมาจากการเป็นโรคฟันผุ โรคเหงือก การได้รับบาดเจ็บ หรือกรณีที่สูญเสียฟันที่ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ อาจเทียบจำนวนคือหากคุณสูญเสียฟันหลายซี่คุณหมอก็จะฝังรากฟันเทียมหลายชิ้น เพื่อใช้เป็นฐานสำหรับรองรับสะพานฟันหรือฟันปลอมแบบถอดได้ ซึ่งขั้นตอนในระหว่างการรักษาจะใช้เวลาไม่นาน แต่จะนานตอนที่รอให้รากฟันเทียมกับกระดูกผสานกัน ซึ่งเวลาในการรอนี้จะไม่เท่ากันในแต่ละคน
สามารถใส่รากฟันเทียมได้ทุกคนหรือไม่?
คุณหมอจะทำการตรวจอย่างละเอียดก่อนว่าคุณสามารถทำรากฟันเทียมได้หรือไม่ เพราะข้อจำกัดบางประการ เช่น กระดูกในขากรรไกรไม่เพียงพอ การทานยาที่จำกัดทางเลือก ปัญหาด้านสุขภาพ อาจทำให้ไม่สามารถทำรากฟันเทียมได้ สำหรับคนที่สูบบุหรี่โอกาสรากเทียมหลวมจนต้องถูกถอดออกก็มีเช่นกัน
การทำรากฟันเทียมมีขั้นตอนในการดำเนินการอย่างไร?
เริ่มต้นจากทันตแพทย์จะทำการตรวจและวินิจฉัยฟันของคุณอย่างละเอียดด้วยการเอ็กซ์เรย์ พิมพ์ฟันและแบบขากรรไกร จากนั้นจะทำการผ่าตัดเพื่อใส่รากฟันเทียมให้ แล้วรอให้รากฟันเทียมผสานติดกับกระดูกเองตามธรรมชาติ ซึ่งอาจใช้ระยะเวลาประมาณ 3-6 เดือน จากนั้นทันตแพทย์จะฝังรากฟันเทียมไว้ที่ใต้เหงือก เพื่อให้รากฟันเทียมผสานเข้ากับกระดูกขากรรไกร ในการนี้จะต้องผ่าตัดเล็กเพื่อต่อเดือยมารองรับครอบฟันให้ยึดติดกับเหงือก เมื่อทันตแพทย์เห็นว่ารากฟันเทียมยึดติดดีแล้ว คุณหมอจะพิมพ์ฟันและทำขั้นตอนทางทันกรรมเพื่อทำครอบฟัน สะพานฟันหรือฟันปลอม ต่อไปจะเป็นขั้นตอนการใส่ส่วนประกอบสุดท้ายเข้าไปภายในช่องปาก เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ
ค่าใช้จ่ายในการทำรากฟันเทียม
ค่าใช้จ่ายของแต่ละคนจะไม่เหมือนกันขึ้นอยู่ว่าใช้รากฟันเทียมไปกี่อันและขึ้นอยู่กับวิธีการรักษาที่คุณเลือกด้วย รู้ไหมว่าคุณมีสิทธิ์ที่จะได้รับทราบเกี่ยวกับค่ารักษาแบบแยกรายการจากทันตแพทย์ก่อนที่จะตกลงใจทำการรักษา เนื่องจากการรักษาด้วยรากฟันเทียมมีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าสะพานฟันแบบธรรมดา คุณหมอจะแจ้งรายละเอียดและสิทธิต่าง ๆ ให้แก่คุณ
สิ่งที่คุณต้องทำเมื่อไปพบหมอกรณีต้องทำรากฟันเทียม
เรื่องสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญคุณควรแจ้งรายละเอียดสุขภาพของคุณที่จำเป็นทั้งหมด เพื่อความปลอดภัยในขั้นตอนของ
การผ่าตัด และเป็นประโยชน์ต่อตัวคุณเองเกี่ยวกับสิทธิในการรับเงินช่วยค่ารักษา นอกจากนี้คุณควรปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์ก่อนและหลังผ่าตัดเพื่อผลลัพธ์ที่ออกมาดี หากคุณเป็นคนที่สูบบุหรี่ควรงดสูบก่อนและหลังจากใส่รากฟันเทียม ควรทำความสะอาดครอบฟันของรากฟันเทียมเป็นอย่างดีเพื่อรักษารากฟันเทียมให้อยู่ได้นานขึ้น ถ้าเราเชื่อฟังและทำตามคำแนะนำของทันตแพทย์โอกาสที่รากฟันเทียมจะอยู่ทนก็มีมากขึ้น
การดูแลและรักษารากฟันเทียมให้ใช้งานได้ยาวนาน
หากเปรียบรากฟันเทียมเป็นการลงทุนเพื่อสุขภาพก็คงไม่ผิดนัก เพราะรากฟันเทียมมีราคาค่อนข้างสูง การจะให้ผลคุ้มค่าต้องขึ้นอยู่ว่าคุณดูแลรักษารากฟันเทียมอย่างเหมาะสมหรือไม่ หากมีคราบจุลินทรีย์ที่เราเห็นติดอยู่บนเหงือกรอบ ๆ รากฟันเทียม รู้ไหมว่านี่เป็นสาเหตุที่ทำให้รากฟันเทียมหลวม เราต้องทำความสะอาดรากฟันเทียมเช่นเดียวกับฟันปกติ คราบต่าง ๆ ที่ติดอยู่ตามเหงือกและบนครอบฟัน จำเป็นต้องได้รับการทำความสะอาดเป็นประจำ ควรเพิ่มการใช้แปรงขัดหรือไหมขัดฟันนอกเหนือจากการแปรงฟันตามปกติด้วย การดูแลรักษารากฟันเทียมเป็นความสำคัญมาก คุณควรขอคำแนะนำและพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้คุณหมอตรวจความเป็นไปของสุขภาพฟันอย่างสม่ำเสมอ
หลังจากทำรากฟันเทียมแล้ว เป็นหน้าที่ของคุณที่จะต้องดูแลทำความสะอาดสุขภาพในช่องปากให้ดีไม่ควรละเลยเป็นอันขาดเพราะจะมีผลต่อรากฟันเทียม หากทำได้ดีก็รับรองว่าคุณจะยืดอายุการใช้งานรากฟันเทียมไปได้อีกนานเลย