ครอบฟัน
หลายคนกำลังมองหาข้อมูลเกี่ยวกับการครอบฟันว่าคืออะไรและมีขั้นตอนการทำอย่างไร ต้องใช้วัสดุแบบไหนถึงจะเหมาะ และการดูแลตนเองหลังครอบฟันเพื่อยืดอายุการใช้งานนั้นมีอะไรบ้าง ซึ่งในวันนี้เราจะมาอธิบายแต่ละข้อมูลของครอบฟันแบบง่าย ๆ เพื่อเป็นไกด์สำหรับคนที่คิดว่าตัวเองต้องรักษาฟันด้วยการครอบฟัน มาเริ่มกันเลยค่ะ
นิยามของการครอบฟัน
การครอบฟันคือการทำให้ฟันที่ได้รับความเสียหายให้มีความแข็งแรงและสามารถใช้งานได้ตามเดิม โดยฟันที่ใช้ในการครอบฟันทำจากวัสดุหลายประเภทตามความเหมาะสม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วการครอบฟันจะใช้กับฟันที่ผุมาก ๆ จนไม่สามารถอุดได้ หรือฟันที่ได้รับการรักษารากฟันมาทำให้ฟันเหล่านี้มีเนื้อฟันเหลืออยู่น้อย หากอุดต่อไปก็ไม่สามารถใช้งานได้นาน ซึ่งฟันอาจจะแตกก่อนได้
ขั้นตอนในการทำครอบฟัน
สำหรับขั้นตอนในการทำครอบฟันนั้น ไม่ยุ่งยากซับซ้อน โดยมีขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้
1.คุณหมอจะทำการกรอฟันเพื่อเอาส่วนที่อ่อนแอออกคงไว้แต่ส่วนที่แข็งแรง
2.จากนั้นจะทำการพิมพ์ปากเพื่อเอาแบบไปทำครอบฟัน
3.เมื่อได้ครอบฟันแล้วจะเอาครอบฟันมาสวมทับฟันอีกทีหนึ่ง
4.ยึดกับฟันด้วยซีเมนต์ที่ใช้สำหรับในช่องปาก
5.คุณจะมีฟันที่ใช้งานได้เหมือนเดิม
การแบ่งประเภทของวัสดุที่ใช้ในการครอบฟัน
เราสามารถแบ่งประเภทของครอบฟันตามวัสดุได้ดังนี้
1.ครอบฟันแบบโลหะล้วน
ครอบฟันแบบโลหะล้วนเป็นครอบฟันที่ทำจากโลหะทั้งซี่ ลักษณะเป็นสีเงิน มีความแข็งแรงมาก เหมาะกับฟันกรามด้านใน เพราะสีไม่เหมือนฟันธรรมชาติ
2.ครอบฟันแบบเซรามิกผสมโลหะ
ครอบฟันแบบเซรามิกผสมโลหะ เป็นครอบฟันที่ด้านในเป็นโลหะมีหลายชนิด เช่น โลหะธรรมดา โลหะผสมทอง และเคลือบด้านนอกด้วยเซรามิก มีความแข็งแรง สีเหมือนฟันธรรมชาติ
3.ครอบฟันแบบเซรามิกล้วน
ครอบฟันแบบเซรามิกล้วนเป็นครอบฟันที่ใช้เซรามิกทั้งชิ้น มีความสวยงาม เหมาะที่จะใช้ในบริเวณที่ต้องการความสวยงาม แต่จะแตกหักง่ายกว่า ปัจจุบันมีการพัฒนาให้เซรามิกทนต่อการแตกหัก สามารถนำไปใช้ในฟันหลังที่ต้องรับแรงบดเคี้ยวได้ด้วย
สิ่งที่เหมือนกันของครอบฟันแบบเซรามิกผสมโลหะกับครอบฟันแบบเซรามิกล้วน คือเรื่องของสีที่จะเหมือนฟันจริง หากจะครอบฟันตรงฟันกราม คุณหมอจะเลือกใช้ครอบฟันแบบเซรามิกผสมโลหะเพราะจะเหมาะกว่าเพราะสามารถทนต่อการบดเคี้ยวได้ดี ส่วนถ้าจะครอบฟันตรงฟันหน้า การใช้ครอบฟันแบบเซรามิกล้วนจะเหมาะที่สุด เพราะมีความใส ความสวยงามเหมือนฟันจริง โดยครอบฟันแบบโลหะล้วนจะมีความแข็งแรง ทนทานที่สุด ไม่ค่อยมีการบิ่นหรือแตกเหมือนวัสดุเซรามิก
การดูแลสุขภาพฟันเพื่อความคงทนของครอบฟัน
เมื่อคุณได้รับการทำครอบฟันมาแล้ว สิ่งที่ควรรู้คือครอบฟันจะมีอายุการใช้งานยาวนานได้ก็ต่อเมื่อฟันที่ใช้เป็นฐานรอบรับครอบฟันมีสุขภาพดีและแข็งแรง ดังนั้นเราจึงต้องมีวิธีดูแลฟันของเราเพื่อเป็นฐานที่มั่นคงให้กับครอบฟัน โดยหลังจากครอบฟันมาภายใน 24 ชั่วโมง ช่วงนี้ต้องเลือกอาหารเสียหน่อยอย่าเคี้ยวอาหารแข็งเป็นดีที่สุด ควรเริ่มด้วยการรับประทานอาหารอ่อน ๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้กับครอบฟันใหม่ อาจมีบ้างที่เกิดอาการเสียวฟันแต่ก็เป็นไม่นาน สามารถหายได้เอง ช่วงนี้ก็หลีกเลี่ยงอาหารร้อน หรือเย็น หรือที่มีความเป็นกรดสูง เพราะมีผลต่อการเสียวฟัน อาจกินยาแก้ปวดเพื่อลดอาการเสียวฟันได้ การใช้ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากที่มีฟลูออไรด์สูงก็ช่วยลดการเสียวฟันได้ด้วยเช่นกัน
แต่ถ้ากลัวว่าจะเกิดการบวมก็สามารถบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ อย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง ก็จะช่วยเลี่ยงการเกิดการบวมได้
ควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หากสามารถแปรงฟันหลังอาหารได้ก็จะยิ่งดี ควรใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง เวลาบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์ ควรอมน้ำยาไว้อย่างน้อย 1 นาที และไม่ควรดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารหลังบ้วนปาก ควรรอสัก 30 นาที ก่อน เพื่อประสิทธิภาพ นอกจากนี้ควรไปพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อสุขภาพปากและฟันที่แข็งแรง
คงไม่มีใครอยากไปพบทันตแพทย์หากไม่จำเป็นจริง ๆ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นกับฟันของตนไม่ว่าจะรู้สึกปวดฟันหรือมีอาการของเหงือกอักเสบ วิธีที่ดีที่สุดคือการไปพบทันตแพทย์ เพื่อจะวินิจฉัยให้คำแนะนำอย่างถูกต้อง ซึ่งการครอบฟัน ก็เป็นหนึ่งในกระบวนการรักษาที่จะช่วยรักษาฟันที่มีอยู่ไว้ได้ โดยไม่ต้องถอนฟันซี่นั้นไป ซึ่งเมื่อคุณได้รับการครอบฟันมาแล้วก็ต้องพึงเอาใจใส่ฟันซี่นั้นเป็นพิเศษ เพื่อให้ฟันแข็งแรงเป็นฐานให้ครอบฟันตลอดอายุการใช้งาน
การแปรงฟันให้สะอาดและถูกวิธียังเป็นคำแนะนำที่ดีสำหรับผู้เข้ารับการบริการด้านทันตกรรม รวมถึงผู้ที่ทำการครอบฟันด้วย คุณควรทำความสะอาดฟันอย่างตั้งใจและใช้เวลา ไม่ทำแบบขอไปที เพื่อที่จะมีฟันที่แข็งแรงรองรับครอบฟันต่อไป