ฟันคุด

ฟันคุด

 

สำหรับคนที่เคยเป็นฟันคุดแล้วคงซาบซึ้งถึงการปวดฟันคุดเป็นอย่างดี ยิ่งต้องเข้ารับการผ่าฟันคุดด้วยแล้ว จะมีทั้งความกลัวก่อนและระหว่างผ่าฟันผสมโรงด้วยความเจ็บปวดฟันคุด เป็นที่ทราบกันดีว่าคนเรามีฟันด้วยกันทั้งหมด 2 ชุด คือ ฟันน้ำนมและฟันแท้ โดยฟันแท้จะมีด้วยกัน 32 ซี่ แต่บางคนอาจมีครบและไม่ครบ ซึ่งฟันที่ขึ้นสุดท้ายสุดที่เรียกว่าฟันคุดจะมีลักษณะการขึ้นแบบเฉียงหรือเอียงติดฟันข้างเคียง ขึ้นมาโดยไม่ได้ฝังอยู่ในขากรรไกร จึงทำให้หลายคนปวดจนสุดจะทน

 

ชนิดของฟันคุดที่ควรรู้

ทราบหรือไม่ว่า ฟันคุด มีทั้งหมด 4 ชนิด คือ หนึ่งฟันคุดที่ล้มไปด้านหน้า พบมากที่สุด โดยฟันซี่นั้นหักเป็นมุมไปด้านหน้าทางด้านหน้าของปาก สอง ฟันคุดชนิดตั้งตรง เป็นฟันที่งอกออกมาไม่พ้นขอบเหงือกทั้งหมด สาม ฟันคุดชนิดหันส่วนครอบฟันออก เป็นฟันที่งอไปข้างหลังทางด้านหลังของปาก  สี่ฟันคุดชนิดวางตัวในแนวราบ เป็นฟันกรามที่ทำมุม 90 องศาไปด้านข้าง เข้าไปในรากของฟันกรามซี่ที่สอง

 

ฟันกรามซี่สุดท้ายที่คุดสามารถจำแนกโดยดูได้จากฟันว่ายังอยู่ในขากรรไกรทั้งหมดหรือไม่ ถ้าฟันยังหุ้มอยู่ในขากรรไกรทั้งหมด เรียกว่าฟันคุดที่ต้องกรอกระดูกและฟัน แต่ถ้าฟันนั้นงอกพ้นขากรรไกรขึ้นมาแล้ว แต่ยังไม่พ้นขอบเหงือก เราจะเรียกว่าฟันคุดที่ไม่ต้องกรอกระดูกและฟัน

 

ช่วงวัยที่เหมาะสมในการถอนหรือผ่าฟันคุด

เราแทบจะไม่เคยเห็นคนอายุมาก ๆ มาถอนฟันคุดเท่าไรนัก จะเห็นมากก็จะเป็นช่วงวัย 16 – 25 ปี ที่ทันตแพทย์มักจะผ่าหรือถอนฟันคุดให้ ซึ่งมีเหตุผลก็คือหากถอนหรือผ่าฝันคุดช่วงอายุนี้จะเกิดผลเสียน้อย เพราะเป็นช่วงที่รากฟันยังเติบโตไม่เต็มที่ กระดูกขากรรไกรยังไม่หนา แผลค่อนข้างหายเร็ว เมื่อรู้แบบนี้แล้วคนที่รู้ตัวว่าเป็นฟันคุดก็อย่าละเลยปล่อยเวลาให้ยืดยาวออกไป ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อผลดีแก่ตนเองทั้งในเรื่องของสุขภาพและจิตใจและผลการรักษาที่จะออกมาดี

 

เรียนรู้เรื่องปัญหาสุขภาพในช่องปากอันเกิดจากฟันคุด

เมื่อคุณมีฟันคุดจะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพอื่นด้วยที่เห็นได้ชัดคือมีอาการปวด เป็นเพราะตัวฟันคุดมีแรงผลักที่จะทำการงอกขึ้นมาในขากรรไกร แต่ฟันคุดไม่สามารถทำได้มากนักเนื่องจากถูกกันจากฟันข้างเคียง ทำให้เกิดแรงย้อนกลบไปกดที่เส้นประสาทของขากรรไกร จึงทำให้คุณปวด บางครั้งคุณอาจรู้สึกได้ถึงการปวดยังบริเวณอื่นของใบหน้า เช่น ปวดตา ปวดศรีษะ เป็นต้น นอกจากนี้ฟันคุดยังทำให้ฟันผุ เพราะเป็นแหล่งกักเศษอาหารยากต่อการทำความสะอาดด้วยความที่มันอยู่ลึกใกล้ลำคอ และการที่มีเศษอาหารหมักหมมอยู่บริเวณนั้นนาน ๆ จึงทำให้ฟันผุ แถมทำให้ฟันข้างเคียงผุตามไปด้วย บางทีไม่สามารถรักษาได้จนต้องทำการถอนไปพร้อมกับฟันคุดด้วย นอกจากทำให้ฟันผุแล้วฟันคุดยังทำให้เหงือกอักเสบและบวมเพราะเศษอาหารที่ตกค้างใต้เหงือกนั้นเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียที่ยากจะทำความสะอาดได้หมดจด นอกจากนี้ฟันคุดยังสามารถทำให้ติดเชื้อได้ด้วย ซึ่งการติดเชื้อจากฟันคุดค่อนข้างร้ายแรง เพราะขากรรไกรจะบวมอาจถึงอ้าปากไม่ขึ้นกลืนอะไรไม่ได้ และถ้าลุกลามลงคอก็จะทำให้หายใจไม่ได้ต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาอย่างเร่งด่วน อีกวีรกรรมของฟันคุดคือทำให้ฟันเก เนื่องจากแรงดันของฟันคุดที่มีมากจนผลักให้ฟันข้างเคียงรับผลกระทบต่อ ๆ กันจนเป็นเหตุให้ฟันบิด อีกเรื่องที่มาจากฟันคุดคือทำให้เกิดถุงน้ำ ซึ่งขยายอยู่ในกระดูกขากรรไกร หากไม่เคยไปพบทันตแพทย์เลย มาสังเกตอีกทีก็มีใบหน้าเอียงไปแล้ว หรือไม่ก็ขากรรไกรข้างหนึ่งใหญ่กว่าอีกข้างหนึ่งและจะเบียดกินกระดูกขากรรไกรไปเรื่อย ๆ ถ้าตรวจพบต้องรีบทำการผ่าตัดออก จะได้ไม่สูญเสียอวัยวะขากรรไกร และสามารถคงรูปหน้าให้เหมือนเดิมได้ แต่ถ้าถุงน้ำใหญ่มากจนถึงกับต้องตัดขากรรไกรบางส่วนออก การคงรูปหน้าให้เหมือนเดิมก็ทำยากยิ่งถ้าถุงน้ำนั้นเปลี่ยนเป็นเนื้องอกบางชนิดก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่

 

หลังผ่าฟันคุดแล้วต้องทำอย่างไรบ้าง?

หลังจากที่คุณผ่าฟันคุดแล้ว คุณหมอจะให้กัดผ้าก๊อซไว้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง แต่ถ้าเลือดยังไม่หยุดไหลก็ให้กัดต่อไป คุณอาจใช้ผ้าห่อน้ำแข็งประคบบริเวณใบหูถึงใต้คางในวันแรก หลังจากผ่านไปวันที่ 2 ให้เปลี่ยนมาประคบด้วยน้ำอุ่น อาจมีอาการปวดหรือบวมแดงได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของการผ่าฟันคุด นอกจากนี้คุณต้องทานยาแก้ปวดตามแพทย์สั่งและรับประทานอาหารอ่อน ๆ ไปก่อน  สามารถแปรงฟันได้ตามปกติแต่ระวังตรงบริเวณแผลผ่าฟันคุดด้วยอย่าให้ไปโดน และควรไปพบทันตแพทย์ตามนัดเพื่อตัดไหม

 

เมื่อมีความรู้เรื่องของฟันคุดแล้ว ก็อย่าละเลยแบบทนปวดได้ ควรพาตนเองไปพบทันตแพทย์ เพื่อจะได้รับคำแนะนำในเรื่องการรักษาในช่วงวัยที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดและดีต่อสุขภาพของฟันตลอดอายุการใช้งาน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *